ศาสนาจะอยู่ไม่นานเพราะอะไร/ กำเนิดวันพระ/ทำอย่างไรสามีภริยาจะพบกันทุกชาติ เมื่อเอ่ยถึง พระไตรปิฎก หลายๆคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวและยากจะเข้าถึง ซึ่งอาจเกิดจากภาษาที่ใช้ ทั้งๆที่พระไตรปิฎกถือได้ว่าเป็นตำราหรือคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาที่ทุกคนควรได้เรียนรู้ เพราะได้รวบรวมคำสอนหลักๆขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการถอดความ และจัดทำพระไตรปิฎกออกมาในภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นพระไตรปิฎกฉบับประชาชนบ้าง ฉบับเยาวชนบ้าง รวมทั้งมีคัดเลือกเนื้อหาสาระบางส่วนที่น่าสนใจมาเผยแพร่ ทำให้คนทั่วไปได้ทราบเรื่องราวในพระไตรปิฎกมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ที่ไม่เคยทราบเกี่ยวกับพระไตรปิฎกว่ากล่าวถึงเรื่องอะไรไว้บ้าง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำสาระน่ารู้บางส่วนที่นำมาจากพระไตรปิฎกมาเล่าสู่กันฟังเป็นเรื่องๆ เริ่มด้วยการรู้จัก “พระไตรปิฎก”กันก่อน คำว่า “พระไตรปิฎก” มาจากคำว่า “ไตร”ที่แปลว่า สาม และ “ปิฎก” หมายถึง กระจาด ตะกร้า หรือบางแห่งก็แปลว่า คัมภีร์ เมื่อรวมความแล้ว หมายถึง ที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจายสูญหาย แต่ให้อยู่ในตะกร้าหรือกระจาดนั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนหรือ ๓ คัมภีร์คือ พระวินัยปิฎก เป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัยหรือศีลของพระสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก เป็นเรื่องคำสอนทั่วๆไปที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่ต่างๆมีการเอ่ยชื่อบุคคล สถานที่และประวัติตามท้องเรื่อง และสุดท้ายคือ พระอภิธรรมปิฎก เป็นข้อธรรมะล้วนๆกล่าวถึงความเป็นไปแห่งชีวิตและจุดหมายปลายทางของชีวิต หรือนิพพานนั่นเอง ซึ่งในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ยังไม่มีการแบ่งชัดเจนเช่นนี้ และมิได้เรียกว่าพระไตรปิฎก มีแต่เพียงการรวบรวมข้อธรรมะของพระพุทธเจ้าและพระวินัยเป็นข้อๆแล้วซักซ้อมท่องจำกันมา แล้วพระพุทธองค์ก็จะทรงขานรับรองว่าถูกต้อง ซึ่งการท่องจำเช่นนี้นี่เอง จึงเป็นที่มาของการสวดปาติโมกข์ คือ การท่องจำพระวินัยอันเป็นการสวดข้อบัญญัติทางวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อทุกๆ ๑๕ วันในเวลาต่อมา และเนื่องจากภาษาที่ปรากฎในพระไตรปิฎกสมัยนั้นยากแก่การเข้าใจ จึงได้มีการอธิบายความพระไตรปิฎกขึ้นภายหลัง ซึ่งเรียกกันว่า อรรถกถา แปลว่า คำอธิบายพระไตรปิฎกโดยพระเถระผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า พระอรรถกถาจารย์ ปัจจุบันเรามักได้ยินคนพูดว่า ศาสนาเสื่อมลงๆ เพราะคนในสังคมผิดศีล ขาดธรรมกันมากขึ้น ซึ่งในเรื่องพระศาสนาจะตั้งอยู่ได้นานหรือไม่นั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงกล่าวตอบข้อสงสัยข้อนี้ของพระสารีบุตรว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าวิปัสสี สิขี และเวสสภู อยู่ไม่ได้นานเนื่องจากเมื่อแสดงธรรมแก่สาวกแล้ว พระพุทธเจ้าเหล่านี้ มิได้มีการบัญญัติเป็นพระวินัยเอาไว้ เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระศาสนาของพระองค์ก็อันตรธานหายตามไปด้วย ส่วนในสมัยพระพุทธเจ้ากกุธสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ ดำรงอยู่ได้นานเพราะเมื่อแสดงธรรมแล้ว ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ด้วย เมื่อทั้งสามพระองค์ปรินิพพาน พระศาสนาก็ยังคงสืบเนื่องต่อไปได้ ทั้งนี้ ทรงเปรียบให้ฟังว่า บรรดาคฤหัสถ์ที่ออกบวชในศาสนา โดยไม่มีวินัยควบคุมนั้น เหมือนดอกไม้ต่างพรรณ ที่กองไว้บนพื้นกระดาน โดยไม่มีด้ายร้อยให้ติดกัน ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้ง่าย ฉันใดก็ฉันนั้นแต่บรรดาคฤหัสถ์ต่างชาติ ต่างสกุลที่ออกบวช โดยมีวินัยควบคุมนั้น เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองบนพื้นกระดาน โดยมีด้ายร้อยติดกันไว้ ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้โดยยาก ฉันใดก็ฉันนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ความเสื่อมและความเจริญแห่งพระศาสนามาจากการมีพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้คอยควบคุมความประพฤติผู้เข้ามาบวชในพุทธศาสนานั่นเอง ทั้งนี้เพราะพระวินัย ก็คือข้อปฏิบัติหรือศีลของพระ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นรากแก้วของศาสนา เป็นรากฐานแห่งความดีต่างๆ พระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดเนื้อนาบุญแห่งพระศาสนา หากพระสงฆ์อยู่ในพระวินัย และปฏิบัติดีย่อมทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพเลื่อมใสและที่พึ่งของประชาชน แต่หากพุทธสาวกมิได้ทำตามพุทธบัญญัติ ก็ย่อมทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ และถอยห่างจากศาสนา อันนำมาซึ่งความเสื่อมสลายไปในที่สุด การกำเนิดวันพระ มาจากดำริของพระเจ้าพิมพิสาร ที่เห็นว่าทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ นักบวชนอกพระพุทธศาสนา มักจะมาประชุมเพื่อกล่าวธรรมของตน และชาวบ้านก็จะพากันไปฟังด้วยความเลื่อมใส พระองค์จึงอยากให้พระสงฆ์กระทำเช่นนั้นบ้าง จะได้ความรักและความศรัทธาเลื่อมใสจากประชาชน จึงนำพระดำรินี้ไปทูลขอต่อพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ประชุมกันในทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ แต่ปรากฏว่าในครั้งนั้น พระภิกษุเมื่อประชุมกันแล้ว พากันนิ่งเฉยไม่พูดอะไร ชาวบ้านก็พากันตำหนิ ว่าทำไมประชุมกันแล้ว ไม่แสดงธรรม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงทรงอนุญาตให้มีการแสดงธรรมในวันดังกล่าว ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “วันพระ” หรือ “วันธรรมสวนะ” และต่อมาทรงเห็นว่า ควรนำเอาศีลของภิกษุ ๒๒๗ ข้อมาแสดงในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำอันเป็นวันอุโบสถ ที่เรียกว่า สวดปาติโมกข์ด้วย จึงเป็นประเพณีสวดปาติโมกข์ทุก ๑๕ วันดังที่ทรงบัญญัติไว้ มีคนกล่าวไว้ว่า “สตรีเป็นศัตรูแห่งพรหมจรรย์” บางคนอาจคิดว่าเป็นการกล่าวร้ายผู้หญิง จริงๆแล้วในพระไตรปิฎก็มีการพูดถึง “สตรีเป็นมลทินของภิกษุ” โดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระอุทายี เป็นพระในสกุลเมืองสาวัตถี ท่านชอบเข้าออกในสกุลเป็นประจำ ซึ่งสมัยนั้นท่านมีหญิงสาวที่พ่อแม่ได้ยกให้ไว้แล้วเป็นอุปัฏฐากอยู่ วันหนึ่งท่านไปบ้านหญิงดังกล่าว และหญิงสาวอยู่ในห้อง ท่านก็ตามเข้าไปในห้องคุยกันสองต่อสอง ปรากฏว่านางวิสาขามหาอุบาสิกา ไปบ้านนั้นพอดีเห็นพระอุทายีทำเช่นนั้น ก็กล่าวติเตียนว่าปฏิบัติตนไม่เหมาะสม แต่พระอุทายีไม่สนใจ นางจึงไปเล่าให้พระภิกษุอื่นฟัง พวกพระภิกษุก็พากันตำนิพระอุทายีและนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ให้มีการประชุมสงฆ์สอบสวนเรื่องนี้ เมื่อได้ความจริงก็ทรงตำหนิว่า พระอุทายีทำไม่เหมาะ ไม่ควร เพราะจะเป็นเหตุให้ผู้ไม่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ยิ่งไม่เลื่อมใส ส่วนใครที่เลื่อมใส ก็อาจจะคลายความเลื่อมใสลง เมื่อกล่าวติเตียนแล้วก็ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุนั่งในที่ลับหูหรือลับตากับหญิง หนึ่งต่อหนึ่งอีกต่อไป ซึ่งพระวินัยข้อนี้ยังใช้อยู่จนปัจจุบัน จากเรื่องนี้จะเห็นว่าที่กล่าวว่าผู้หญิงทำให้ภิกษุเป็นมลทิน นั้น ก็เพราะว่าหากผู้หญิงเข้าใกล้พระเมื่อใด แม้จะเพียงคุยกัน และไม่มีอะไรกันเช่นพระอุทายี แต่ก็จะทำให้พระมัวหมอง และถูกกล่าวหาได้โดยง่าย ยิ่งอยู่ในที่ลับตาคน ยิ่งไม่เหมาะ และพระภิกษุแม้จะบวชถือศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ก็มิใช่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ยังมีความเป็นปุถุชนอยู่ หากอยู่ใกล้ชิดกันโอกาสจะเกิดเรื่องไม่ดีไม่งามนั้นมีง่าย ซึ่งเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารภกับพระอานนท์ว่า ถ้ามีผู้หญิงมาบวชเมื่อไร ก็จะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระศาสนาตั้งอยู่ได้ไม่นาน และคงด้วยเหตุผลนี้ เมื่อพระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระน้านางและพระมารดาบุญธรรมของพระองค์มาขอบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก พระวินัยของภิกษุณีจึงมีถึง ๓๑๑ ข้อมากกว่าพระภิกษุเสียอีก รวมทั้งมีครุธรรมที่ต้องปฏิบัติอีกด้วย เชื่อไหมว่า คำว่า “คว่ำบาตร” ก็มีปรากฏในพระไตรปิฎกด้วย โดยมีเรื่องเล่าว่า เจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งมีเพื่อนเป็นพระภิกษุสองรูปชื่อพระภุมมชกะและพระเมตติยะ ถูกพระทั้งสองใช้ให้ไปทำอุบายใส่ร้ายพระทัพพมัลลบุตร ด้วยพระสองรูปคิดว่าพระภิกษุองค์นี้กลั่นแกล้งตน เจ้าลิจฉวีก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าใส่ความหาว่าพระองค์นี้ข่มขืนมเหสีของตัว เมื่อพระพุทธเจ้าสอบสวนหาความจริง ก็ทราบว่าเจ้าลิจฉวีโกหก พระพุทธองค์จึงทรงแนะให้สงฆ์ทั้งหมดดำเนินการคว่ำบาตรเจ้าลิจฉวีทันที กล่าวคือ ห้ามสงฆ์คบค้าสมาคมบุคคลผู้นี้อีกต่อไป รวมถึงบุคคลผู้ทำความชั่ว ๘ อย่าง ให้สงฆ์งดเกี่ยวข้องด้วย เช่น พวกที่ยุยงพระให้แตกกัน ผู้ที่ด่าว่าเปรียบเปรยพระ ผู้ที่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นต้น เมื่อเจ้าลิจฉวีได้ทราบว่าตนถูกคว่ำบาตรก็เสียใจจนสลบไป ครั้นต่อมา ได้มาขอเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลขออภัยโทษสำนึกผิด พระพุทธองค์ก็ทรงยกโทษให้ ด้วยการประชุมสงฆ์และหงายบาตร อันถือเป็นการคืนดีกับพระสงฆ์ กำเนิด”ชีวกโกมารภัจจ์” (ชี-วะ-กะ-โก-มา-ระ-พัด) ผู้ที่เรียนแพทย์แผนโบราณ คงจะคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี ด้วยถือว่าเป็น “ครูทางการแพทย์แผนโบราณ” ปัจจุบันหากเราไปตามสถานที่นวดแผนโบราณ เรามักจะเห็นรูปภาพหรือรูปปั้นที่มีหน้าตาคล้ายฤาษีนั่งสมาธิที่เขาตั้งไว้บูชา นั่นคือ รูปของหมอชีวกโกมารภัจจ์นั่นเอง ตามประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของ นางสาลวดี หญิงงามเมืองในกรุงราชคฤห์ ซึ่งมีความงามและเสน่ห์ยิ่ง ซึ่งเมื่อนางท้องและกลัวจะมีผลต่ออาชีพ จึงได้แกล้งป่วย และเมื่อคลอดบุตรออกมาก็ให้ทาสนำทารกใส่กระด้งไปทิ้งกองขยะ รุ่งเช้าเจ้าชายอภัยผ่านมาเห็นทารกถูกฝูงกาห้อมล้อม ก็ตรัสถามว่า “ยังมีชีวิตอยูหรือ” (ชีวกะ) ครั้นได้ทรงรับคำยืนยันว่า”ยังมีชีวิตอยู่” จึงได้นำทารกนั้นมาเลี้ยง และพระราชทานนามว่า “ชีวก” และให้นามสกุลว่า “โกมารภัจจ์” เมื่อเติบโตขึ้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้ถามหาบิดามารดา พระองค์ก็ตอบว่าไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อแม่แท้ๆ แต่พระองค์เป็นบิดาเพราะชุบเลี้ยงมา ชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้คิดว่า ตามธรรมดาในราชสำนัก หากไม่มีศิลปะ(ไร้การศึกษา) คงจะพึ่งพาบารมียาก จึงหนีไปเรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ สำนักตักกศิลา เรียนอยู่ ๗ ปีเรียนได้เร็ว และจำได้มาก ความรู้แตกฉาน แต่ก็สงสัยว่าทำไมอาจารย์ไม่ให้จบสักที เมื่อสอบถามอาจารย์ๆเลยให้ลองไปหาพืชที่มิใช่สมุนไพรมาให้ดูสักตัว ปรากฏว่าหาไม่ได้ มีแต่พืชที่ทำยาได้ทั้งนั้น ไปบอกอาจารย์ๆเลยบอกว่าสำเร็จการศึกษาแล้วระดับหนึ่ง พอจะทำมาหาเลี้ยงชีพได้ และมอบเสบียงกรังให้เดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งหลังจากนั้นชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้ใช้วิชาแพทย์รักษาคนเรื่อยมา ต่อมาได้รักษาริดสีดวงให้พระเจ้าพิมพิสาร พระองค์จึงมีพระราชานุญาตให้หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นหมอประจำพระองค์ ตลอดจนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทำอย่างไรสามี-ภริยาจะพบกันทุกชาติ มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปรับบิณฑบาตที่บ้านคฤหบดีผู้หนึ่ง คฤหบดีและคฤหปตานี สามีภริยาได้ถวายบังคมและทูลถึงความจริงใจและความซื่อสัตย์ที่ทั้งสองมีต่อกันให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ ว่าตั้งแต่อยู่กินกันมาทั้งคู่ไม่เคยคิดนอกใจกันเลยไม่ว่าด้วยกายหรือใจ และทูลต่อว่าหากทั้งสองปรารถนาจะพบและเป็นสามี-ภริยากันอีกในทุกๆชาติจะเป็นไปได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ถ้าสามีภริยาปรารถนาจะพบกันอีกในภายหน้าย่อมเป็นไปได้ หากคนทั้งสองนั้นมีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีการบริจาคเสมอกัน และมีปัญญาเสมอกัน ทั้งหมดนี้คือ เนื้อหาสาระบางส่วนที่ปรากฏใน พระไตรปิฎก ซึ่งหลายๆเรื่องเราอาจจะคาดไม่ถึงว่าพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้ด้วยหรือ เช่น เหตุที่ทำให้สตรีสวยงาม วิธีแก้ง่วง การป้องกันงูกัด เสน่ห์หญิงเสน่ห์ชาย เป็นต้น ท่านที่สนใจไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะพระไตรปิฎกสำหรับเยาวชนอ่านได้ง่าย สนุก และได้เรียนรู้หลักธรรมในระดับหนึ่ง ......................................................................... กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม